ไทยครองแชมป์หนี้ครัวเรือนสุงสุด ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
แม้ Covid-19 จะผ่านไปแต่บาดแผลยังคงฝากไว้กับเศรษฐกิจไทยที่ยังเป็นแผลเรื้อรังและดูเหมือนไม่หายไปแบบง่ายๆ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Economic Intelligence Center หรือ SCB EIC ได้รายงานข้อมูลด้านหนี้ครัวเรือนของคนไทย ว่าหลังจากผ่านการแพร่ระบาดของ Covid-19 หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าการแพร่ Covid-19 ในช่วงปี 2562 ที่ระดับ 80%
ทั้งนี้ความน่าห่วงของหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP นั้น คือ การที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และหากนับรวมกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่ามีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อันดับที่ 10 จากทั้งหมด 43 ประเทศ

ทั้งนี้ SCB EIC ได้ประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยนั้นยังมีหลายส่วน และหนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดย EIC ประเมิน ความเสี่ยง ได้แก่ (1) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกดดันการส่งออกและลงทุน (2) การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังไม่แน่นอน (3) เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง หนี้สูงกดดันการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง (4) ความไม่แน่นอนทางการเมือง กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน
SCB EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 3 ครั้งสู่ระดับ 2% ณ สิ้นปี 2566 ประกอบกับมาตรการการเงินบางส่วน ของ ธปท. เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วง COVID-19 จะทยอยสิ้นสุดในปี 2566 จะส่งผลให้ภาวะการเงินไทยตึงตัวมากขึ้นอีก ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากปีนี้ อยู่ในกรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงมากในปี 2566 ภายใต้ความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้น จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงช้า นโยบายการเงิน ตึงตัวมากทั่วโลกพร้อมกัน และผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้บางประเทศหลักจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น สหรัฐฯ
แนะนำข่าวเศรษฐกิจเพิ่มเติม : เงินฝากออมทรัพย์ ธอส. Freshy 55 Plus ดอกเบี้ยสูงสุด 3.10% ต่อปี